แมงกะพรุน
ช่วงนี้ทะเลไทยมีแมงกะพรุนขึ้นมามาก จากชะอำ ไปหัวหิน ไประยอง ไปจันทร์ตราด มีใครต่อใครถามมาหลายราย ผมเลยเขียน 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนมาให้เพื่อนธรณ์ผู้อาจสนใจหรือเอาไว้คุยอวดชาวบ้านก็ได้ครับ
1. แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีอายุสั้นมาก ปรกติแล้ววงจรชีวิตน้อยกว่า 1 ปี แถมช่วงที่เราเห็นเขาลอยตุ๊บป่องอยู่ในน้ำ ยังเป็นแค่ช่วงหนึ่งของชีวิต เพราะช่วงต้นแมงกะพรุนจะอยู่ติดกับพื้น ก่อนปล่อยลูกลอยออกมาทีละตัว ช่วงทีลอยในน้ำเรียกว่า Medusa หรือนังผมงูเก็งกองรายนั้นแหละ
2. แมงกะพรุนมีนับพันชนิด จะเอาแบบเหมาน่าจะเกิน 2,000 ชนิด มีตั้งแต่ตัวเท่าหัวเข็มหมุดไปจนถึงตัวใหญ่กว่าคนด้วยซ้ำ แต่ขนาดไม่เกี่ยวกับพิษ โดยเฉพาะเจ้าตัวใหญ่อย่างแมงกะพรุนแผงคอสิงโต ถือเป็นเป้าหมายในการถ่ายภาพใต้น้ำชั้นยอด เป็นเหมือนยานอวกาศที่มีลูกปลาและสัตว์อาศัยเต็มไปหมด ผมเคยไปลอยตุ๊บป่องถ่ายภาพกับเธอเป็นชั่วโมง ไม่เบื่อครับ
3. เนื่องจากชีวิตของแมงกะพรุนเกิดเร็วตายเร็ว จึงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะปริมาณของแมงกะพรุนที่มีมากขึ้นหรือน้อยลง เป็นไปตามอาหารของแมงกะพรุนเป็นหลัก
4. แมงกะพรุนกินแพลงก์ตอนจิ๋ว ตั้งแต่แพลงก์ตอนพืช เรื่อยไปจนถึงแพลงก์ตอนสัตว์ รวมทั้งลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน หากมีน้ำจืดไหลลงทะเลมาก บนแผ่นดินมีปุ๋ยหรือมีธาตุอาหารเร่งการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนเยอะ ปริมาณแพลงก์ตอนมาก ลูกแมงกะพรุนก็รอดมาก ปริมาณจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเห็นว่าในช่วงปลายฝนต้นหนาว น้ำจากแม่น้ำไหลลงทะเลพลั่ก ๆ เราจะเจอแมงกะพรุนเยอะเป็นพิเศษ
5. แมงกะพรุนไม่ได้เป็นสัตว์สังคม ไม่จำเป็นต้องอยู่รวมกัน เผอิญแมงกะพรุนกำหนดทิศทางในการเดินทางของตัวเองไม่ได้ ต้องปล่อยให้กระแสน้ำพาไป อย่างดีก็ได้กระพือนิดหน่อย แมงกะพรุนถือเป็นแพลงก์ตอนครับ การมารวมกันของแมงกะพรุนจึงไม่ใช่มาโดยสมัครใจ แต่เชื่อว่าเป็นแมงกะพรุนรุ่นนั้นที่โตมาพร้อมกันในจังหวะที่มีอาหารมากเป็นพิเศษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น